Silkspan

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

sunitjo travel พาเที่ยว บ้านฝั่งแดง หาดผาแดง บางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ - ททท. และกรมทรัพยากรธรณี นำสื่อลงพื้นที่สำรวจ “หาดฝั่งแดง” บ้านฝั่งแดง ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีจุดเด่นพิเศษหน้าผาแดง และหาดทรายแดง ตลอดจนก้อนหินขนาดต่างๆ ที่มีสีสันสีแดงเป็นระยะทางยาวประมาณ 8 กม. ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากว่า 1 แสนปีจนถึง 240 ล้านปี ซึ่งทางจังหวัด และ ททท.ประจวบฯ ได้ชูจุดขายใหม่ “หาดฝั่งแดง” เป็น 1 ใน 10 สิ่งมหัศจรรย์แหล่งท่องเที่ยวประจวบฯ ในปี 56 เตรียมเดินหน้าประชาสัมพันธ์
      
       วันนี้ (31 ม.ค.) นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 ปทุมธานี พร้อมด้วย น.ส.พสิษฐ์ตา อินทร์พันธ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยัง “หาดฝั่งแดง” ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำหาดฝั่งแดงขึ้นมาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2556 และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนทางวิชาการว่า หาดฝั่งแดงเกิดจากอะไร มีความเป็นมหัศจรรย์อย่างไร เกิดขึ้นมานานขนาดไหน และมีพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการจากรมทรัพยากรธรณีอย่างไร เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลการสื่อสารออกไปสู่สาธารณชนอย่างถูกต้อง โดยในวันนี้ ทาง ททท.สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขัน จึงได้เชิญนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณี และสื่อมวลชนเข้ามาสำรวจในพื้นที่
      
       นายนราเมศวร์ ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 ปทุมธานี กล่าวในขณะทำการสำรวจว่า หาดฝั่งแดง หรือหาดผาแดง มีลักษณะพิเศษคือ แนวหน้าผาหินสีแดง เป็นลักษณะของตะกอนกรวดที่มีลวดลายสีสันที่สวยงาม หันหน้าออกสู่ทะเล มีความสูงของหน้าผากว่า 6 เมตร และความยาวกว่า 6-8 กิโลเมตร ความจริงแล้ว จุดนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ศิลาแลง” ได้เช่นกัน
      
       “บริเวณจุดนี้ทางธรณีวิทยาถือเป็นการเกิดตะกอนในยุคไครสโตซีน มีอายุอยู่ในราวกว่า 1 แสนปีขึ้นไป ในยุคนั้นบริเวณนี้จะเป็นยุดที่มีทางน้ำกวัดแกว่งอยู่แถวนี้ และพัดพาตะกอนกรวดเข้ามาค่อนข้างไกล และมาสะสมตัวอยู่บริเวณจุดนี้ ซึ่งก้อนกรวดจะมีลักษณะกลมมน นานเข้าจากการสะสมก็จะทำให้มีความหนาของตะกอนประมาณ 10 กว่าเมตรขึ้นไป”
      
       “ซึ่งหาดฝั่งแดง หรือหาดผาแดงนี้ เกิดขึ้นจากการสะสมของตะกอนที่ถูกน้ำพัดพา และเกิดการกัดเซาะของคลื่น และลมทะเลธรรมชาติเป็นระยะเวลากว่า 1 แสนปี-250 ล้านปี จนทำให้ลวดลายสวยงามสีแดง มีพื้นทรายสีแดง รวมไปถึงกรวด และก้อนหินขนาดต่างๆ กลายเป็นสีแดง ซึ่งเกิดจากการล่วงหล่นมาจากหน้าผาแดง และเมื่อหล่นลงมาแล้วถูกน้ำทะเลพัดขึ้นพัดลง จนก้อนกรวด และก้อนหินเกิดความสวยงามตาขนาดต่างๆ จึงนับเป็นเสน่ห์ และความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ทั้งนี้ หาดผาแดง มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นลักษณะของศิลาแลง อายุประมาณกว่า 1 แสนปีขึ้นไป และอีกส่วนลงไปแนวเดียวกัน มีอายุกว่า 240 ล้านปี ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถือเป็นข้อมูลทางวิชาการ”
       จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันพัฒนาจุดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยาก็จะเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดประจวบฯ และยังเป็นชายหาดเดียวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นหาดทรายแดงปนกรวด สิ่งสำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ทางธรณีวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่จะมาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่อไป
      
       ด้าน น.ส.พสิษฐ์ตา อินทร์พันธ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หาดผาแดง ซึ่งอยู่ที่บ้านฝั่งแดง ทางจังหวัดประจวบฯ และ ททท.ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2556 เพื่อที่จะเชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวก่อนที่เราจะโปรโมตจุดนี้
      
       “ตัวของหาฝั่งแดง บ้านฝั่งแดง มีความน่าสนใจอยู่แล้ว ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์จึงไม่ยาก แต่ทั้งนี้ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เช่น การทำป้ายบอกทางเข้ามา ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก เพราะหลังจากมีการประชาสัมพันธ์ย่อมต้องมีนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางเข้ามาในพื้นที่จุดนี้มากขึ้น เมื่อมาแล้วนักท่องเที่ยวต้องทราบข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งคงต้องมาวางแผนร่วมกันว่า จะดำเนินการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปในทิศทางใด” น.ส.พสิษฐ์ตา อินทร์พันธ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าว

























































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น